ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

วิถีชีวิตของชาวไทยพวนบ้านโพธิ์ตาก จะมีวิถีชีวิตเฉกเช่น ชนเผ่าไทยพวน ในประเทศไทยโดยทั่วไป นั่นก็คือ จะมีความผูกพันกับธรรมชาติโดยมีปัจจัย 3 อย่างเป็นตัวประกอบ คือ ข้าว ฝ้าย ไม้ไผ่ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า เป็นอาหารหลักของไทพวนบ้านโพธิ์ตาก เพราะมีการประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม มีการทำนา ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษและยังสืบทอดต่อกันมาจนถึง ปัจจุบัน โดยจะทำนาปีละ 2 ครั้ง หรือบางปีที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ก็จะทำนาถึง 3 ครั้ง ทุกบ้านจะปลูกข้าวเจ้าไว้กินเอง และมีการตำข้าวเม่า หาบไปขายยังหมู่บ้านต่างๆ เป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านโพธิ์ตาก มีรสชาติหอมหวานอร่อย และอ่อนนุ่มเมื่อรับประทาน จะมีทั้งยังไม่คลุกมะพร้าว น้ำตาล และที่คลุกแล้ว ข้าวที่ปลูกเมื่อก่อนจะเก็บไว้กินไม่ขาย แต่ในปัจจุบันปลูกไว้เพื่อขายเพียงอย่างเดียว ในการทำนาแต่ละปี จะมีพิธีกรรมในการสู่ขวัญข้าว ด้วย อาชีพเสริม คือ การทอผ้า ถือได้ว่าการทอผ้ามัดหมี่ของไทพวนบ้านโพธิ์ตาก เป็นที่ต้องตาต้องใจ ของท้องถิ่นใกล้เคียงอยู่มาก ฝ้าย เป็นปัจจัยที่สำคัญรองลงมา เพราะผู้หญิงไทพวนบ้านโพธิ์ตาก จะนำฝ้ายมาทอผ้าใช้เอง แต่ ในปัจจุบัน เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมไปบ้าง ที่ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสความเจริญทำให้มีการซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปใส่เองไม่เหมือนแต่ก่อน การทอผ้าในแต่ละครอบครัวลดน้อยลง จะคงเหลือไว้บ้างสำหรับครอบครัวที่มีอาชีพทอผ้า และคงอนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ และชุมชนในหมู่บ้านเท่านั้น ไม้ไผ่ ทุกบ้านต้องมีไม้ไผ่ปลูกล้อมเพราะเครื่องมือ เครื่องไม้ เครื่องใช้ทั้งหมดจะสานจากไม้ไผ่ ได้แก่ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ลอบ ไซ แงบ สุ่มดักปลา ข้อง เครื่องใช้ในครอบครัว เช่น กะชอน กระด้ง กระจาด กระบุง ชะลอม สุ่มไก่ เป็นต้น ในปัจจุบันวิถีชีวิตเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป คนเฒ่าคนแก่เป็นบุคคลสำคัญที่ยังคงรักษาประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ เพื่อการอนุรักษ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กๆ และชุมชนในหมู่บ้านต่อไป ชาวพวนมีนิสัยรักความสงบ ใจคอเยือกเย็น มีความโอบอ้อมอารี ยึดมั่นในศาสนา รักอิสระ มีความขยันขันแข็งในการการประกอบอาชีพ เมื่อว่างจากการทำไร่ทำนาก็จะทำงานหัตถกรรม คือ ผู้ชายจะสานกระบุง ตะกร้า เครื่องมือหาปลา ส่วนผู้หญิงจะทอผ้า

วีดีโอแนะนำ
Google Map

การติดต่อ