กิจกรรมการท่องเที่ยว

การเดินทางท่องเทียวเพื่อไปเติมพลังกาย พลังใจ ณ บ้านไร่อ้อย โดยมีวิถีชาวบ้านที่คงความใสซื่อให้คุณได้เรียนรู้ สามารถปั่นจักรยานได้แบบชิลๆ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แจ่มใส บ่งบอกถึงความเป็นเจ้าบ้านที่ดี บ้านไร่อ้อยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่มากไปด้วยความตั้งใจในการที่จะพัฒนาชุมชนของตัวเองให้มีอัตลักษณ์คงความเป็นวิถีแห่งตัวตนของชาวบ้านไร่อ้อย ซึ่งสถานท่องเที่ยวแห่งแรก คือ วัดไร่อ้อย สถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเคารพศรัทธาของชาวบ้าน โดยมีหลวงพ่อเพชร อันศักดิ์สิทธิ์ ที่มีเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่น โดยวัดไร่อ้อยศูนย์กลางในการทำกิจกรรมต่างๆ คุณยาย คุณป้า ที่ช่วยกันพับดอกบัว เพื่อใช้ในงานบุญเพื่อเป็นพุทธบูชาแด่องค์หลวงพ่อเพชร ซึ่งมีความศักสิทธิ์ ชาวบ้านมักจะมาบนบานศาลกล่าวและมักได้ดั่งใจหวัง จากนั้นก็เดินทางสู่ บ้านขนมไทย หลังจากไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคลเรียบร้อย เราก็เดินจากวัดไปยังบ้านขนมไทย ห่างกันเพียงไม่ถึงหนึ่งร้อยเมตรน้ำย่อยเริ่มทำงานทันที บอกเลยว่าคอของหวานต้องไม่พลาดในการมาเยือนบ้านขนมไทย ณ ที่แห่งนี่ขึ้นชื่อในเรื่องการทำขนมไทยโดยเฉพาะขนมหม้อแกงสูตรโบราณของบ้านไร่อ้อย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเครื่องหมาย OTOP เป็นของดีประจำหมู่บ้าน ที่คนมาลิ้มลองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าขนมหม้อแกงที่นี่อร่อย แตกต่างจากขนมหม้อแกงที่อื่นๆ เสร็จแล้ว ต่อมากลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชัง ปลอดสาร วิถีริมแม่น้ำน่านแบบนี้อาชีพเลี้ยงปลาในกระชังเป็นความยั่งยืนอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มักมีให้เห็นริมน้ำเฉพาะหมู่บ้านไร่อ้อยมีผู้เลี้ยงปลาอยู่ 11 ราย ปลาที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นปลานิล ปลาทับทิม และปลากด กลุ่มผู้เลี้ยงปลาจะใช้กล้วยนน้ำว้าสุกผสมลงไปในอาหารปลาเพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลาลงได้ครึ่งหนึ่ง ผลผลิตปลาในกระชังมีทั้งขายปลาเป็นตัวและนำเนื้อปลามาแปรรูปทำเป็น “ปลาส้ม” จากนั้นเดินทางต่อไปที่ "บ้านปูนปั้นบ้านปาริชาติ" โดยผู้ใหญ่บ้านแจ้งว่าหมู่บ้านแห่งนี้ มีบ้านนี้เป็นของคุณครูพิษณุ เกษรจันทร์ ข้าราชการเกษียณอายุที่ใช้วิชาด้านศิลปะ ได้หันมาผลิตงานปูนปั้นจากปูนปลาสเตอร์ ทำเป็นรูปหล่อต่างๆใช้งานในการตกแต่งบ้าน ตกแต่งสวน แล้วหลังจากนั้น เราเดินทางต่อ เพื่อชมธรรมชาติป่าชุมชน ซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์จำนวน 133 ไร่ 2 งาน ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ โดยแบ่งมาทำเป็นป่าชุมชน 33 ไร่ และสระประมง 16 ไร่ ป่าชุมชนแห่งนี้ได้รับการพัฒนาทำถนนลาดยาง เพื่อใช้เป็น จุดชมวิวธรรมชาติสำหรับต้อนรับ นักท่องเที่ยว แนะนำว่าสายปั่นจักรยานไม่ควรพลาด เพราะป่าชุมชนแห่งนี้มีความร่มรื่น มีลมพัด เย็นตลอดทั้งวัน และสุดท้ายเดินทางสู่ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯบ้านไร่อ้อย มีกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย เช่น การปลูกผักสวนครัว ผลไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อบริโภคในครัวเรือน ประกอบกับมีการรณรงค์การผลิตปุ๋ยหมักอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ สารไล่แมลง เพื่อใช้ในแปลงผักในครัวเรือน เพื่อลดต้นทุนการผลิต และรักษาคุณภาพดิน โดยทุกครัวเรือนมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ธนาคาร ธกส. และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิชัย ทำให้ทราบถึงการใช้จ่ายของครัวเรือนในแต่ละเดือน เพื่อนำมาปรับแผนการใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ภายในหมู่บ้านก็ยังมีการรวมกลุ่มแม่บ้าน ทำน้ำยาเอนกประสงค์ใช้ในครัวเรือน กลุ่มแม่บ้านแปรรูปกล้วยฉาบ กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มขนมไทยและแกงโบราณ กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง และกลุ่มสัมมาชีพเพาะเห็ดฟาง ตลอดจนกลุ่มโรงสีชุมชนอีกด้วย นอกจากนั้นภายในชุมชนยังมีกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรณรงค์ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำน่าน ปล่อยพันธุ์ปลาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ กิจกรรมการแยกขยะ โดยจัดให้มีธนาคารขยะชุมชน ตลอดจนการจัดการป่าชุมชน